เชื่อไหมว่า แค่นั่งเฉยๆ ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพได้หลายด้านเลยทีเดียว

 

แม้การนั่งจะเป็นอิริยาบถที่ผ่อนคลายสบายตัว แต่ท่านั่งและระยะเวลาในการนั่งนั้นสัมพันธ์กับหลายระบบสำคัญของร่างกาย เช่น ระบบไหลเวียนเลือด ระบบกล้ามเนื้อ หรือแม้แต่ระบบการเผาผลาญด้วย แล้วในยุคปัจจุบัน คนสมัยนี้อยู่ในอิริยาบถนั่งกันมากกว่านอนเสียอีก ดังนั้นต้องลองสังเกตพฤติกรรมการนั่งของคุณให้ดี เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงโรคภัยเหล่านี้

 

1. อ้วนลงพุง

นั่งนานไปพุงอาจขยายได้ นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการนั่งกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น งานวิจัยหนึ่งอธิบายว่า เมื่อเรานั่ง ร่างกายจะขยับเขยื้อนน้อยลง ในระยะยาวร่างกายจึงต้องการพลังงานต่อวันน้อยลงตามไปด้วย แต่ถ้าพฤติกรรมการกินของเรายังเหมือนเดิม พลังงานก็จะแปรรูปสะสมเป็นไขมัน

การนั่งยังสัมพันธ์กับระบบเผาผลาญด้วย นั่งนานๆ มีความเสี่ยงเกิดโรค Metabolic Syndrome ที่ทำให้เราเกิดภาวะอ้วนได้ เพราะการนั่งเป็นเวลานานจะลดการทำงานของเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ที่เป็นเอนไซม์ย่อยไขมัน ช่วยในกระบวนการเผาผลาญ หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการนั่ง ความเสี่ยงนี้จะยังคงอยู่แม้เราจะออกกำลังกายเป็นประจำก็ตาม

 

2. โรคหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด

การนั่งนานๆ ยังส่งผลเสียต่อหัวใจของเราโดยตรงด้วย เพราะเมื่อเรานั่ง เลือดจะไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้การลำเลียงออกซิเจนหรือของแร่ธาตุต่างๆ เพื่อไปเลี้ยงร่างกายลดน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงที่กรดไขมันจะเข้าไปอุดตันในหัวใจได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน หัวใจก็ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปตามร่างกาย โรคความดันสูงก็อาจเกิดตามมา มีงานวิจัยระบุว่า คนที่นั่งอยู่กับที่นานๆ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า

 

3. ปวดหลัง

ไม่เกี่ยวกับการยกของหนัก นอนผิดท่า หรือออกกำลังกายผิดวิธี อาการปวดหลังของคนทุกวันนี้ บ่อยครั้งเกิดจากการที่เรานั่งนานเกินไป ซึ่งต้นเหตุก็มาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อย่างการนั่งดูโทรทัศน์ หรือนั่งทำงานในคอมพิวเตอร์

เวลาที่เรานั่ง หลังของเราจะรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับการยืน เมื่อกล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก ก็จะทำให้เกิดอาการล้า เกร็ง และบาดเจ็บได้ ยังไม่นับท่านั่งแบบเลื้อยตัวไปกับเก้าอี้ ซึ่งส่งผลร้ายต่อหลังยิ่งกว่าเดิม หากจำเป็นต้องนั่งนานๆ ก็ควรหาหมอนมารองหลังให้ตั้งตรง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้

 

4. ความเครียดและอารมณ์

ไม่ใช่แค่สุขภาพกาย การนั่งยังส่งผลต่อจิตใจของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งในออสเตรเลียพบว่าพนักงานที่นั่งติดต่อกันเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน จะมีความเครียดและวิตกกังวลมากกว่าพนักงานที่นั่งน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน สาเหตุอาจไม่ได้เกิดจากท่านั่งและระยะเวลาการนั่งโดยตรง แต่มาจากผลกระทบของกิจกรรมที่เราทำตอนนั่งด้วย เช่น การนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ทำให้เรามีเวลาปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทางกายภาพน้อยลง

 

5. เสียบุคลิก

แม้เราจะไม่รู้ตัว แต่อวัยวะอย่างคอ ไหล่ และหลัง คืออวัยวะที่ถูกใช้งานหนักที่สุดในท่านั่ง โดยเฉพาะเวลานั่งทำงาน ท่าที่เรามักจะทำไปโดยธรรมชาติคือการยื่นหน้าเข้าไปใกล้กับคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ต้องยืดออกไปด้วยเช่นกัน

 

การทำท่าทางเหล่านี้ซ้ำทุกวันนอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อตึงและบาดเจ็บ ยังส่งผลให้ท่าทางยามเราเคลื่อนไหวผิดปกติตามไปด้วย เช่น การเดินหลังโกง ยืนห่อไหล่ หรือ เดินคอยื่นไปข้างหน้า