เคยไหม เดินออกจากคอนโด นั่งรถไปที่ทำงาน หรือเพียงก้าวขาขึ้นรถไฟฟ้า ก็รู้สึกอ่อนเพลียเสียแล้ว บางทีกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่มีความเหนื่อยล้าสะสมมากเหลือเกิน คล้ายกับเมืองใหญ่ในหลายๆ ประเทศ เราจะมาตีแผ่เหตุปัจจัยที่ ‘ความเป็นเมือง’ ทำให้คุณอ่อนล้า และแนะนำวิธีรับมือกับมัน

 

1. ชีวิตในเมืองมีความซับซ้อน

การอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หมายความว่าเราอยู่อาศัยร่วมอยู่กับคนอีกมากมาย กฎระเบียบบางอย่างจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกฎที่มองเห็นอย่างกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือ กฎที่เป็นเรื่องของบรรทัดฐานซึ่งมองไม่เห็นก็ตาม อย่างเช่น การปฏิบัติตามกฎจราจร การยืนอยู่หลังเส้นสีเหลืองบนสถานีรถไฟฟ้า หรือ การปฏิบัติตามวัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย การไปตามนัดให้ตรงต่อเวลา เป็นต้น

กฎเหล่านี้มีต้นทุนทางเวลาและเงินเสมอ ซึ่งเป็นเหมือนสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ใช้กันในเเมืองใหญ่

มองในแง่ดี การทำตามกฎระเบียบก็ทำให้การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น หรือพูดอีกอย่างว่าเราสามารถ ‘เดา’ ได้ในระดับหนึ่งว่าชีวิตจะได้เจออะไรบ้าง แต่ขณะเดียวกันกฎระเบียบที่เราได้ปฏิบัติตามจนชินชานั้น ก็สร้างความเหนื่อยล้าให้กับเราโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน

บางครั้งเราจึงควรหนีจากกฎเกณฑ์เดิมๆ ออกไปเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ พบปะกับธรรมชาติและสังคมที่มี ‘ระเบียบ’ ต่างออกไป ก็อาจจะทำให้เราได้ ‘พัก’ จากเมืองของเราได้

 

2. ค่าครองชีพที่สูง

ชีวิตในเมืองมีความแพงกว่าชีวิตในชนบทมาก ยิ่งอยู่ใกล้ใจกลางเมืองก็ยิ่งแพง นับตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และการเดินทาง ปัจจัยพื้นฐานในการครองชีพชีวิตคนเมือง มีราคา ‘แพง’ กว่าในพื้นที่อื่นๆ แต่หลายคนก็ยังไม่สามารถปฏิเสธการอยู่อาศัยในเมืองได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

กลไกของเมืองกวักมือเรียกให้เราใช้จ่ายไปกับทุกสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของความสะดวกสบาย ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าหากมีทางเลือก คงไม่มีใครอยากเดินทางไปทำงานโดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงเบียดเสียดอยู่ในขนส่งสาธารณะขณะชั่วโมงเร่งด่วน แต่การเดินทางรูปแบบอื่นๆ ที่สบายขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย

ความแพงของความสะดวกสบายนี้เอง ทำให้คนเมืองพยายามผลักดันตัวเองให้มีอำนาจพอที่จะจับจ่ายกับสิ่งนี้ แต่จนกว่าที่เราจะก้าวไปถึงจุดนั้น ความกดดัน ความเครียด และความไม่สะดวกสบาย จะอยู่เป็นเพื่อนเราไม่ไปไหน

ทางออกของปัญหานี้ที่จริงก็ไม่ยากนัก ความไม่สะดวกสบายจริงๆ มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ทนได้ยาก เช่น การเดินไปทำงาน 20 กิโลเมตรทุกวัน ซึ่งคงไม่มีใครทำ ไปจนถึงระดับที่พอทนได้ เช่น การยืดเบียดอยู่ในรถไฟฟ้า 5 สถานี การหาพื้นที่ที่ ‘พอทนได้’ นี่แหละคือการประนีประนอมระหว่างเรากับสังคมเมือง ซึ่งนอกจากเร่ืองการเดินทางแล้ว ยังสามารถครอบคลุมไปถึงปัจจัยพื้นฐานในชีวิตด้านอื่นๆ ได้ด้วย

 

3.เมืองทำให้เราป่วย

การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ก่อให้เกิดโรคภัยต่างๆ ได้อย่างน่าตกใจ สาเหตุแรกๆ มาจากวิถีชีวิตของคนเมือง เรามีโอกาสออกกำลังร่างกายน้อยเกินไป การเดินหรือปั่นจักรยานไปทำงาน ไม่สามารถเป็นตัวเลือกที่ดีได้ ด้วยความไม่พร้อมของทางเท้า ถนน และระบบคมนาคม พอถึงที่ทำงานเราก็ต้องนั่งอยู่กับเอกสารหรือหน้าจอคอมพ์ไปอีกอย่างน้อย 8 ชั่วโมง การนั่งเป็นระยะเวลานานขนาดนี้ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้เมื่อสะสมเป็นประจำ

นอกจากนี้การอาศัยในเมืองกังก่อความกังวลและเศร้าซึมให้กับเราได้ ทั้งความเหงาที่เกิดจากการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ความกังวลเรื่องความคาดหวังของผู้อื่นที่มีต่อเรา ยิ่งอยู่ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีบทบาทสูงด้วยแล้ว ความคิดความกังวลเหล่านี้ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การหาเวลาไปออกกำลังหรือไปยืดเส้นยืดสาย พบผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายเพื่อดูแลร่างกายของตัวเองให้ฟิตสมบูรณ์อยู่เสมอจึงเป็นตัวช่วยอย่างดี ที่จะทำให้เราสดชื่นขึ้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่ในระยะยาวแล้ว การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่นท่านั่งในการทำงาน และทัศนคติที่มีต่อตัวเอง จะช่วยให้เราห่างไกลความเจ็บป่วยจากเมืองได้